เมนู

คำว่า อยํ รุจฺจติ (นี้เรียกว่า) ความว่า นี้เราเรียกชื่อว่า ปิเยหิวิปปโยค
ทุกข์. ปิเยหิวิปปโยคทุกข์นั้น อิฏฺฐวตฺถุวิโยคลกฺขโณ มีการพลัดพรากจาก
วัตถุที่ปรารถนาเป็นลักษณะ โสกุปฺปาทนรโส มีการให้เกิดขึ้นแห่งความโศก
เป็นรส พฺยาสนปจฺจุปฏฺฐาโน มีความฉิบหายเป็นปัจจุปัฏฐาน.
ปิเยหิวิปปโยคทุกข์นั้น ชื่อว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งโดยอรรถ ย่อมไม่มี
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง 2
ของบุคคลผู้พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักอย่างเดียว เพราะวัตถุที่น่าปรารถนา
ทั้งหลายเมื่อพลัดพรากไป ย่อมยังทุกข์แม้ทางกายให้เกิดขึ้นโดยความเป็นผู้มี
สรีระซูบซีดและเหี่ยวแห้งเป็นต้น แม้ทางใจก็ให้เกิดทุกข์ โดยการให้เศร้าโศก
ว่า แม้สิ่งที่มีอยู่แก่พวกเรานั้นก็ไม่มีแล้ว ดังนี้. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าว
ไว้ดังนี้ว่า
เพราะพลัดพรากจากญาติและทรัพย์
เป็นต้น พวกคนพาลผู้เพรียบพร้อมด้วยลูก-
ศรคือความโศกเสียดแทงอยู่ เพราะเหตุใด
เพราะเหตุนั้น ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
เขาจึงรู้กันว่า เป็นทุกข์.


ว่าด้วยนิเทศอิจฉา

(บาลีข้อ 156)
พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอิจฉา (ความปรารถนา) ต่อไป
บทว่า ชาติธมฺมานํ (มีความเกิดเป็นธรรมดา) ได้แก่ มีภพเกิด
เป็นสภาพ มีความเกิดปกติ. บทว่า อิจฺฉา อุปฺปชฺชติ (ความปรารถนา
ย่อมเกิด) ได้แก่ ตัณหาย่อมเกิด. ศัพท์ว่า อโห วต (โอหนอ) เป็นการ
ปรารถนา. คำว่า น โข ปเนตํ อิจฺฉาย ปตฺตพฺพํ (ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จ

ตามความปรารถนา) ความว่า ความไม่มาแห่งชาติ (ความเกิด) อันมีอยู่ใน
พวกสาธุชนผู้ละสมุทัยได้แล้ว และมีอยู่ในท่านผู้ปรินิพพาน ซึ่งไม่มีความเกิด
เป็นธรรมดา อันชนทั้งหลายปรารถนาแล้วอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอพวกเราอย่ามี
ความเกิดเป็นธรรมดา และขอความเกิดอย่ามาถึงพวกเราเลยหนา ดังนี้นั้น
ชื่อว่า ย่อมไม่สำเร็จตามความปรารถนาได้ เพราะเว้นจากมรรคภาวนา แม้บุคคล
ปรารถนาอยู่ก็ไม่พึงสำเร็จ และเพราะเป็นธรรมพึงถึงด้วยมรรคภาวนา แม้แก่
บุคคลผู้ไม่ปรารถนา. บทว่า อิทมฺปิ แปลว่า แม้นี้. ปิ อักษร หมายเอาบทที่
แปลกกันข้างหน้า. บทว่า ยมฺปิจฺฉํ เป็นต้น ความว่า เมื่อบุคคลปรารถนา
วัตถุที่ไม่พึงได้โดยธรรมแม้ใด ย่อมไม่ได้ซึ่งความปรารถนาในวัตถุที่ไม่พึงได้
นั้น พึงทราบว่า เป็นทุกข์. แม้ในบทมีคำว่า แก่เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็น
ธรรมดา เป็นต้น ก็นัยนี้. ความปรารถนาในวัตถุที่ไม่พึงได้ในนิเทศนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกขํ (ปรารถนา
สิ่งใดไม่ได้ แม้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์) ด้วยประการฉะนี้.
ความปรารถนานั้น อลพฺภเนยฺยวตฺถุอิจฺฉนลกฺขณา มีความ
อยากในวัตถุที่ไม่พึงได้เป็นลักษณะ ตปฺปริเยสนรสา มีการแสวงหาสิ่งนั้น
เป็นรส เตสํ อปฺปตฺติปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่สำเร็จสิ่งเหล่านั้น เป็น
ปัจจุปัฏฐาน. ก็ความปรารถนานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะ
เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง 2 จริงอยู่ บางคนที่คนอื่นยกย่องว่า จักเป็นพระ-
ราชา เขามีคณะที่ฝ่ายบ้านเมืองตัดขาดแตกไปติดตามแล้วเข้าไปยังโขดเขา หรือ
ราวไพร. ที่นั้นพระราชาทรงทราบพฤติการณ์นั้นแล้วทรงกองทัพไป บุรุษนั้น
มีบริวารถูกราชบุรุษกำจัดแล้ว แม้ตนเองก็ถูกทำร้าย จึงหนีเข้าไปยังระหว่าง

ต้นไม้ หรือระหว่างแผ่นหิน. สมัยนั้น เมฆใหญ่ตั้งขึ้น มีฝนพรําดำมืดยิ่ง
ในขณะนั้นฝูงสัตว์มีมดดำเป็นต้นก็ล้อมเกาะเขารอบด้าน ด้วยเหตุนั้น ความ
ทุกข์กายมีกำลังจึงเกิดแก่เขา เมื่อคิดอยู่ว่า พวกญาติเท่านี้ และโภคทรัพย์เท่านี้
ฉิบหายแล้ว เพราะอาศัยเราคนเดียว ดังนี้ โทมนัสมีกำลังก็เกิดแก่เขา.
ความปรารถนานี้พึงทราบว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์
เหล่านั้นแม้ทั้ง 2 ด้วยประการฉะนี้.
อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อสัตว์ปรารถนาวัตถุนั้น ๆ อยู่
เพราะไม่ได้วัตถุนั้น ๆ ความทุกข์อันใด ซึ่ง
เกิดแด่ความพลาดหวัง ย่อมเกิดแก่พวกสัตว์
ในโลกนี้ ความปรารถนาวัตถุที่บุคคลไม่พึง
ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น เพราะฉะนั้น พระ
ชินพุทธเจ้าจึงตรัสความไม่ได้ตามความ
ปรารถนา ว่าเป็นทุกข์แล.


ว่าด้วยนิเทศอุปาทานขันธ์

(บาลีข้อ 157)
พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งอุปาทานขันธ์ ต่อไป
บทว่า สํขิตฺเตน (โดยย่อ) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอา
เทศนา จริงอยู่ ใคร ๆ ไม่อาจย่อทุกข์ได้ เท่านี้เป็นทุกข์ร้อยหนึ่ง หรือว่า
เท่านี้เป็นทุกข์พันหนึ่ง แต่เทศนาอาจย่อได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงย่อเทศนา
ว่า ขึ้นชื่อว่า ทุกข์ มิใช่อะไรอื่น โดยย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ดังนี้